IMG 5547

โบราณสถานวัดพระธาตุก๋อมก้อ

        จากการค้นคว้าข้อมูลเอกสารและจารึกต่างๆ ไม่พบข้อมูลการก่อสร้างวัดพระธาตุก๋อมก้อว่าสร้างในพุทธสักราชใด แต่จากสัมภาษณ์พระครูสุทัศน์นพกิจ เจ้าอาวาสวัดดงบุญนาค ได้ทราบว่า การนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานภายในวัดดงบุญนาคนั้น ได้ทำการอัญเชิญมาจากวัดพระธาตุก๊อกก้อ (ร้าง) เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2512 ซึ่งพระพุทธรูปดังกล่าวมีนามว่า “พระเจ้าหินทิพย์” เป็นพระพุทธรูปหินทราย ฝีมือช่างสกุลช่างพะเยา หน้าตักกว้าง 72 นิ้ว สูง 99 นิ้ว ซึ่งพระครูสุทัศน์นพกิจ เจ้าอาวาสวัดดงบุญนาค ได้กล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่เล่ากันมา ว่า ขณะที่ทำการชักลากแพที่ประดิษฐานองค์พระเพื่ออันเชิญจากวัดพระธาตุ       ก๋อมก้อมาประดิษฐานที่วัดดงบุญนาค โซ่ที่ใช้ชักลากเกิดขาด ขณะที่กำลังหาโซ่มาเปลี่ยน กลุ่มผู้เม่าผู้แก่ได้ประกอบพิธีขอขมา และกล่าวคำอัญเชิญองค์พระอยู่พักใหญ่ โดยให้เด็กหนุ่มสาวที่แต่งกายไม่เรียบร้อยกลับก่อน แล้วจึงตัดต้นกว๋าวเครือ ในบริเวณนั้นมาต่อกับโซ่ที่ขาด ปรากฏว่าสามารถชิกลากแพข้ามดอยมาถึงวัดโดยไม่ขาดเป็นที่น่าอัศจรรย์

          จากการสำรวจรอบๆบริเวณวัดพระธาตุก๋อมก้อ ยังพบฐานเสาหินทราย เศษภาชนะดินเผาและเศษกระเบื้องดินของกระจัดกระจายอยู่โดยรอบ จากข้อมูลต่างๆ ที่ได้กล่าวมาจึงสันนิฐานเบื้องต้นว่าโบราณสถานวัดพระธาตุก๋อมก้อ สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 22

ลักษณะและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม

        แผนผังโบราณสถานหลักวางตัวในแนวทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก โดยมีห้วยหลวงลำน้ำขนาดเล็กไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตก เนินโบราณสถานมีขนาดประมาณ 14 x 30 เมตร ประกอบด้วย วิหารผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันปรากฏร่องรอยเฉพาะแนวฐานของวิหารสูงราว 60 เซนติเมตร มีบันไดทางขึ้นกว้างประมาณ 150 เซนติเมตรที่ด้านข้างทั้งสองด้าน ส่วนบนพื้นวิหารมีการปลูกสร้างอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยใหม่ ถัดไปทางด้านหลังขอวิหารปรากฏร่องรอยของเจดีย์ก่ออิฐขนาด 2 x 3 เมตร มีสภาพถูกลักลอบขุดทำลาย แนวกำแพงแก้วล้อมรอบวิหารและเจดีย์ โดยมีขนาดประมาณ 4 x 40 เมตร นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทต่างๆ ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเวียงบัว ชิ้นส่วนกระเบื้องดินของ และฐานทรงกลมมีรูกลมมีรูตรงกลางทำจากดินทราย ซึ่งน่าจะใช้เป็นฐานเสาวิหารขนาด 70 x 70 x 25 เซนติเมตร ตั้งอยู่ หมู่ที่ 7 บ้านดงบุญนาค ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

DSCF9133 

วัดพระธาตุจำม่วง  อำเภอแม่ใจ  จังหวัดพะเยา

                     ที่ตั้ง วัดพระธาตุจำม่วง ตั้งอยู่บนดอยห้วยม่วง บ้านหนองบัว  หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเหล่า อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ใจ ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 10 กม. การเดินทาง ไปวัดพระธาตุจำม่วง สามารถเดินทางจากถนนพหลโยธินสายเก่า หน้าที่ว่าการอำเภอ แม่ใจ เลี้ยวเข้าถนนเส้นทางเข้าสู่ตำบลบ้านเหล่า ถึงบ้านไร่อ้อย หมู่ที่ 5 เลี้ยวซ้ายไปถึง บ้านดงอินตา หมู่ที่ 9 แล้วเลี้ยวขวาสู่บ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 เดินทางตามเส้นทาง ถึงเชิงดอยทางขึ้นวัดพระธาตุจำม่วง เดินทางตามทางเดินขึ้นสู่วัดพระธาตุจำม่วง


ประวัติความเป็นมา


                     
เดิมชาวบ้านจังหวัดลำปาง จากบ้านกิ่วแก้ว บ้านม้า อพยพมาอยู่ที่ดงอินตา และบ้านห้วยม่วง จากการนำของ นายมา    ปิงดอย นายก้อน ปิงดอย ต่อมามีญาติพี่น้อง และผู้ใกล้ชิดได้อพยพมาสมทบ เรื่อย ๆ และได้ร่วมกันสร้างวัดที่ดอยห้วยม่วง โดยการนำของครูบาแก้ว ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีโคมคำ อำเภอพะเยา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2481 เหตุที่เลือกสร้างวัดขึ้นที่นี่ เพราะมีซากเจดีย์เก่าแก่อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยเจ้าแม่จามเทวี ได้นำทหารไปสู้รบ กับพม่าทางเมืองเชียงตุงเดินทางผ่านมา มีทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก เจ้าแม่จามเทวีจึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นที่สักการบูชา ให้ทหารเกิดขวัญและกำลังใจ จากนั้นองค์เจดีย์ก็ขาดการทำนุบำรุงและพังทลายตามกาลเวลา หลังจากได้มีการสร้างวัด แล้ว ครูบาแก้วได้บูรณะองค์เจดีย์ขึ้นใหม่ และได้นิมนต์พระใจ๋ คัมภีโร จากวัดศรีดอนมูล บ้านไร่อ้อย มาจำพรรษาอยู่ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2482 และตั้งชื่อวัดว่า วัดพระธาตุจำม่วง


ความสำคัญ


                     วัดพระธาตุจำม่วง นับเป็นสถานที่ที่ชาวอำเภอแม่ใจยึดเป็นที่สักการบูชาตลอดมา ใน พ. ศ จัดประเพณีสรงน้ำพระธาตุขึ้น เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะเป็นประเพณีสืบไป พร้อมกับได้สร้างศาลา ขึ้นหลังหนึ่ง ต่อมาพระเดช สิกขาสโภ ได้นำชาวบ้านจากบ้านเหล่า บ้านศรีดอนตัน ช่วยกันสร้างศาลาขึ้นอีกหลังหนึ่ง พร้อมกับได้บูรณะองค์พระธาตุขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2514 วันที่ 24 มีนาคม 2525 พระคำอ้าย กิติปญฺโญ ได้ขึ้นไปจำพรรษาและได้พัฒนาบูรณะ องค์พระธาตุสร้างวิหาร ศาลา เสนาสนะต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2532 กรมการศาสนา ได้อนุญาตให้ตั้งวัดและแต่งตั้ง พระคำอ้าย กิติปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาส และได้ทำการ พัฒนาวัดพระธาตุจำม่วงสืบมา ใน พ.ศ. 2539 จึง ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูกิตติปัญญาวุฒ และคณะศรัทธาได้จัดให้มีงานประเพณีสักการะพระธาตุ จำม่วง เป็นประจำทุกปีตลอดมา ปัจจุบันวัดพระธาตุจำม่วงนอกจากจะเป็นสถานที่ สักการะบูชาของชาวอำเภอแม่ใจแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่น่าพักผ่อน เนื่องจากสถานที่มีบรรยากาศร่มรื่น และสามารถชมภูมิประเทศของอำเภอแม่ใจได้ทั่วถึงเกือบตลอดทั้งอำเภอ


DSCF9124

maepuam3

อ่างเก็บน้ำแม่ปืม

อ่างเก็บน้ำแม่ปืมเป็อ่างเก็บน้ำขนาดกลางในจังหวัดพะเยาตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปืมโดยมีความจุประมาณ 43,000,000 ลบ.ม. เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการชลประทานขนาดเล็ก และทรงเยี่ยมราษฎรบริเวณฝายร่องช้าง ต.ปิน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานในท้องที่จังหวัดพะเยาตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

                  ให้พิจารณาเร่งก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ปืม ต.แม่ใจ อ.แม่ใจ จ.พะเยา ซึ่งเป็นงานชลประทาน โครงการขนาดกลาง เพื่อเป็นประโยชน์ส่วนใหญ่ของอำเภอแม่ใจ และอำเภอเมืองพะเยา ให้สามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างอุดมสมบูรณ์ โดยให้พิจารณาขุดเหมืองส่งน้ำให้รวมทั้งสองฝั่งของลุ่มแม่น้ำปืม ให้ส่งให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำนี้ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้ทางตอนเหนือลำน้ำแม่ปืม ในส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำ ซึ่งราษฎรถูกเขตน้ำท่วมส่วนหนึ่ง จะได้อพยพขึ้นไปตั้งหลักแหล่งประกอบอาชีพไปโดยต่อไปโดยไม่เดือดร้อน

maepuam4

                  อ่างเก็บน้ำแม่ปืมเป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่บริเวณเดียวกับที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ปืม ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอเมืองและอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา อ่างเก็บน้ำแม่ปืมเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดเล็กกว่ากว๊านพะเยา แต่เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีความสงบร่มรื่นไม่พลุกพล่าน และยังคงมีความเป็นธรรมชาติอยู่สูง ไม่มีร้านค้าที่พลุกพล่านให้วุ่นวายใจ มีทิวทัศน์สวยงามโดยเฉพาะยามเช้าที่บริเวณสันอ่างเก็บน้ำมีโอกาสเห็นหมอกน้ำลอยอ้อยอิ่งกระทบกับแสงยามเช้าช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มารีเฟรชตัวเองได้ดีโดยไม่ต้องไปถึงปางอุ๋งหรือป่าสนวัดจันทน์ที่ระยะการไปค่อนข้างไกล นอกจากนั้นช่วงฤดูหนาวที่นกอพยพมาเมืองไทย บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติในยามเช้าสามารถรอลุ้นฝูงเป็ดน้ำอพยพที่จะบินออกจากป่ามาลอยคอหากินอยู่ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ

                 จุดที่น่าสนใจของอ่างเก็บน้ำแม่ปืมการนั่งพักผ่อนหย่อนใจบริเวณรอบๆที่ทำการซึ่งเป็นเหมือนสนามหญ้าบริเวณกว้าง หรือเดินเล่นบริเวณถนนบรอบๆใกล้เคียงกับอ่างเก็บน้ำและบริเวณทุ่งนาจะพบกับบรรยากาศที่แสนสงบสุข นอกจากนั้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปืมมีเส้นทางเดินชมป่าเต็งรังที่มีต้นพลวงเป็นไม้เด่นให้ได้เดินศึกษาธรรมชาติ ส่วนใครที่อยากพักผ่อนค้างคืน อุทยานแห่งชาติแม่ปืมมีลานกางเต้นท์ให้นักท่องเที่ยวมากางเต้นท์ได้

maepuam

maepuam1

nong2

หนองเล็งทราย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

หนองเล็งทราย อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โดยใช้ถนนทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าสู่ทิศเหนือ พะเยา-เชียงราย มาจนถึงแยกศรีบุญเรือง เลี้ยวขวาเข้าถนนพหลโยธินสายในไปประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงวัดโพธารามทางซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนข้างวัดไปจนสุดทางจะพบกับหนองเล็งทราย หรือถ้ามาจากพะเยาอาจจะเข้าทางถนนพพหลโยธินสายในของอำเภอแม่ใจ จะเห็นคลองชลประทานให้เลี้ยวขวาตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตรจะเห็นป้ายบอกทางไปหนองเล็งทรายให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 100 เมตรก็จะพบหนองเล็งทราย หนองเล็งทราย เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ โดยหนองแห่งนี้เนื้อที่ประมาณ 5,500 ไร่ ครอบคลุมหลายตำบล ได้แก่ ตำบลป่าแฝก ตำบลศรีถ้อย ตำบลแม่ใจ และตำบลบ้านเหล่า
        นอกจากนี้หนองเล็งทรายยังมีประโยชน์แก่ชาวบ้านให้ได้ใช้น้ำในการเพาะปลูกทำ ประมงและเลี้ยงสัตว์ และใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ บริเวณหนองเล็งทรายยังมีร้านขายอาหารขึ้นชื่อ และมีเมนูปลา กุ้งเต้น ที่เป็นผลผลิตของหนองเล็งรายที่น่าลิ้มรสให้กับผู้ที่มาแวะมาชมความงามของหนองเล็งทราย

ตำนานหนองเล็งทราย

     วันนี้ขอนำเสนอเรื่องเก่าเบา ๆ ใน "ตำนานหนองเล็งทราย" ซึ่งเมื่ออ่านแล้วได้ข้อคิดหลายประการ ตั้งแต่เรื่องพฤติกรรม เรื่องความเอื้ออาทร เรื่องความมีน้ำใจ เรื่องการเป็นอยู่ ในที่สุดแล้วเรื่องเหล่านี้แม้จะดีงามแค่ไหน ก็สู้บุญกุศลไม่ได้อยู่ดี

     หนองเล็งทราย เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ในอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ที่ไหลลงมาสมทบกับกว๊านพะเยา ซึ่งไหลลงสู่น้ำอิงและผ่านหลายอำเภอของจังหวัดพะเยา-จังหวัดเชียงราย จนไปสิ้นสุดที่แม่น้ำโขง

     มีเรื่องเล่าว่า.....

     ในอดีตกาลนานมาแล้ว (ไม่รู้ว่านานเท่าไหร่) บริเวณหนองเล็งทรายแห่งนี้ มีเมือง ๆ หนึ่งซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ เจริญรุ่งเรือง ผู้คนคับคั่ง ภายใต้การบริหารบ้านเมืองที่ดี มีความอบอุ่น เอื้ออาทรซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าผู้ปกครองและประชาชนผู้อยู่อาศัย

     วิถีชีวิตของชาวเมืองมั่งคั่ง มีความสะดวกสบาย ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ อยู่ด้วยกันอย่างผาสุข ใครใคร่ค้าก็สามารถทำการค้าขายได้ตามใจนึก  ใครใคร่หาของป่า ใครใคร่หาสัตว์น้ำ ใครใคร่ทำไร่ไถ่นา เจ้าผู้ปกครองก็แบ่งปันให้ทำมาหากิน อยู่กันแบบพี่แบบน้องถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยแต่ละคนเมื่อหาข้าวปลาอาหารมาได้ก็แบ่งกันกินตามประสาญาติมิตร

     อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีชาวบ้านไปหาปลาบริเวณหนองน้ำแห่งหนึ่งและได้เห็นปลาไหลเผือกยักษ์ตัวขนาดเท่าลำตาลตัวหนึ่ง (วิญญู กาวินคำ-ขนาดเท่าต้นหมาก)เข้า ด้วยความดีใจ จึงไปบอกเพื่อนบ้านมาช่วยกันดักจับ ขณะที่จับได้แล้วนั้น ก็นึกถึงคุณงามความดีของท่านเจ้าเมือง จึงพากันนำไปถวายท่านเจ้าเมือง พอท่านเจ้าเมืองเห็นก็คิดว่าตัวเราและเหล่าบริวารจะกินแต่ผู้เดียวก็ย่อมแสดงถึงความคับแคบแห่งจิต อย่างไรเสียต้องให้ชาวเมืองได้มีส่วนร่วมด้วย  จึงสั่งให้เสนาอำมาตย์ป่าวประกาศให้คนทั้งหลายได้ทราบถึงพระราชอัธยาศัยในความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พร้อมกับรับส่วนแบ่งเนื้อปลาไหลเผือกไปกินกันทั่วทุกคน

     นัยว่าชาวเมืองเมื่อได้รับส่วนแบ่งพร้อมนำไปประกอบอาหารเมื้อเย็นกินกันทั่วทุกครอบครัวเรียกได้ว่ากินกันทั้งเมืองก็ว่าได้ พร้อมกันนี้ยังได้มีการเฉลิมฉลองอย่างเมามัน สนุกสนานจนอ่อนล้าและหลับไปในรัตติกาลนั้นเอง

     ด้วยความอาเพศเป็นเหตุอะไร ไม่ทราบหรือเป็นเพราะเหตุอัศจรรย์ ในขณะที่ชาวเมืองพากันหลับใหลในปฐมยามนั้นเอง ได้เกิดพายุฝนตกกระหน่ำอย่างบ้าคลั่ง แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ฟ้าคำรามเสียงดังสนั่น

     แต่ชาวเมืองที่ได้ลิ้มรสของเนื้อปลาไหลในตอนเย็นนั้น กลับคิดว่าฝนตกฟ้าร้องตามธรรมชาติ เป็นธรรมดา ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ก็พากันหลับใหลเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม้ปฐมยามผ่านไปอย่างไร ชาวเมืองก็ไม่รู้สึกเกรงกลัวต่อสถานการณ์ที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่นั้น

     พอย่างเข้าในมัชฌิมยาม ก็เกิดพายุแผ่นดินไหวฟ้าคำรามหนักยิ่งขึ้นไปอีก คราวนี้ชาวบ้านที่อยู่นอกเมืองที่เข้าไปในเมืองตอนเย็นและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกินอาหารเมนูปลาไหลใส่สลัด ก็พากันกลับได้สติตกใจตื่นกลัว ได้พากันแตกตื่นอพยพทั้งลูกเด็กเล็กแดง หนีออกนอกเมืองไปพักกับญาตินอกประตูเมืองนั้น มีเพียงชาวเมืองที่ได้ลิ้มรสปลาไหลเท่านั้น ที่ยังมัวเมาและหลับใหลลืมตื่นต่อไปอย่างไม่สนใจต่อภยันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น

     ณ กระท่อมแม่หม้ายในเมือง กลับมีชายสูงวัยลึกลับนุ่งขาวห่มขาว เดินเข้ามาเรียกแม่หมายให้ออกมา แล้วกล่าวกำชับว่าในคำคืนนี้ จะมีอันตรายใหญ่หลวงต่อชาตาและชีวิตของชาวเมืองทั้งหมด ซึ่งกรรมครั้งนี้นางไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขอให้นางอยู่แต่ภายในบ้านอย่าได้ออกมาจนกว่าจะสว่างเท่านั้น ว่าแล้วชายลึกลับก็เดินจากไปหายไปในความมืดมิดแห่งรัตติกาลนั่นเอง ปล่อยให้แม่หมายยืนงงอยู่แต่ผู้เดียว

     พอถึงปัจฉิมยาม ก็เกิดพายุฝนตกกระหน่ำลงมาอย่างบ้าคลั่งอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ ฟ้าคำรามเสียงสนั่นจนแสบแก้วหู ฝ่ายแม่หม้ายได้ยินเสียงและคาดเดาเหตุการณ์ต่าง ๆ ออก แม้จะรู้สึกถึงความน่ากลัวของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่เพราะเชื่อคำของชีปะขาว จึงไม่กล้าแม้แต่จะย่างกายลุกออกจากเตียงนอน หัวใจของนางนึกถึงแต่พ่อแก้วแม่แก้ว คุณของพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ และบุญกุศลที่นางได้เฝ้าบำเพ็ญมาทั้งชีวิต

     ลำดับนั้น แผ่นดินกลับพลิกกลับไปมาอย่างรุนแรง บริเวณเมืองนั่นก็ยุบตัวลงพร้อมกับการล่มสลายแห่งเมืองโบราณในอดีต ผู้คนล้มตาย ทรัพย์สินบ้านเรือน และสรรพสิ่งจมดิ่งลงสู่ใต้แผ่นดินในชั่วพริบตา จนเกิดโศกนาฏกรรมที่สลดหดหู่เป็นอย่างยิ่ง (เฉพาะเหตุการณ์นี้ คล้ายโศกนาฏกรรมของเมืองโยนกนคร อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เทียบดูได้จาก "ตำนานเชียงแสน"  ปริวรรตโดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์)

     รุ่งขึ้น ขุนพันนาและชาวบ้านรอบนอกต่างก็พากันออกมาดูว่า เมื่อคืนนี้เกิดอะไรขึ้น เมื่อเห็นเมืองทั้งเมืองหายไปอย่างนั้น ก็พากันพูดถึงสาเหตุและโจษขานกันไปต่าง ๆ นานา ว่าเป็นเพราะเหตุอันใดที่ทำให้บ้านเมืองถล่ม บ้างก็ว่าพญานาคพิโรธที่ไปทำลายญาติมิตรของเขา บ้างก็ว่าเป็นกรรมเก่าที่ชาวเมืองได้กระทำร่วมกันมาในอดีตชาติ  บ้างก็ว่าเป็นเพราะเจ้าเมืองและผู้นำท้องถิ่นอาจประพฤติผิดศีลธรรม ฯลฯ

     จนเสียงคุยกันดังสนั่นไปทั่วบริเวณ ต่างคนก็ต่างแสดงความคิดเห็นกันไปต่าง ๆ นานา ถูกบ้างผิดบ้างตามประสาผู้วิพากษ์วิจารณ์ (แต่ยังไม่ได้วิจัย)

     ที่น่าแปลกใจคือ กลางหนองน้ำนั้น มีกระท่อมหลังเล็ก ๆ อยู่หลังหนึ่งไม่ล่มสลาย ไม่หายไปไหน มีเกาะกลางน้ำโผล่มารองรับนับว่าอัศจรรย์ยิ่ง ชาวบ้านต่างพากันเข้าไปสอบถามหญิงเจ้าของกระท่อมนั่น? ร้อยพันคำถามจากชาวบ้าน จนหญิงหม้ายตอบแทบไม่ทัน

     สรุปได้ใจความว่า เป็นหญิงหม้ายที่เธอถือศีลบำเพ็ญบุญมาตลอดชีวิตและเมื่อวานนี้เธอไม่ได้กินเนื้อปลาไหลเผือกกับชาวเมือง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เธอรอชีวิตมาได้ โดยไม่ได้รับอันตรายใดใด

     เกาะกลางน้ำนั้น ได้ชื่อว่า "ดอนแม่หม้าย" ส่วนบริเวณที่ล่มลงของเมืองโบราณนั้นได้ชื่อว่า "เมืองหนองหล่ม"  ต่อมาได้ชื่อใหม่ว่า "หนองเล็งทราย" ดังอธิบายมาแล้ว

     นี้เป็นตำนานที่เกิดขึ้นในอดีต ที่สอนให้คนทั้งหลายได้ตระหนักถึงบทเรียนที่ผ่านมา แม้บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองอย่างไรก็ตาม จะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกันมากมายแค่ไหนก็ตาม ในที่สุดศีลธรรมเป็นสิ่งที่เลิศล้ำที่สุด ประดุจคำของหลวงปู่พุทธทาสที่กล่าวไว้ว่า "ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะพินาศ"

นี้เป็นตำนานที่เกิดขึ้นในอดีต ที่สอนให้คนทั้งหลายได้ตระหนักถึงบทเรียนที่ผ่านมา แม้บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองอย่างไรก็ตาม จะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกันมากมายแค่ไหนก็ตาม ในที่สุดศีลธรรมเป็นสิ่งที่เลิศล้ำที่สุด ประดุจคำของหลวงปู่พุทธทาสที่กล่าวไว้ว่า "ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะพินาศ"..... 

nong1