IMG 5547

โบราณสถานวัดพระธาตุก๋อมก้อ

        จากการค้นคว้าข้อมูลเอกสารและจารึกต่างๆ ไม่พบข้อมูลการก่อสร้างวัดพระธาตุก๋อมก้อว่าสร้างในพุทธสักราชใด แต่จากสัมภาษณ์พระครูสุทัศน์นพกิจ เจ้าอาวาสวัดดงบุญนาค ได้ทราบว่า การนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานภายในวัดดงบุญนาคนั้น ได้ทำการอัญเชิญมาจากวัดพระธาตุก๊อกก้อ (ร้าง) เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2512 ซึ่งพระพุทธรูปดังกล่าวมีนามว่า “พระเจ้าหินทิพย์” เป็นพระพุทธรูปหินทราย ฝีมือช่างสกุลช่างพะเยา หน้าตักกว้าง 72 นิ้ว สูง 99 นิ้ว ซึ่งพระครูสุทัศน์นพกิจ เจ้าอาวาสวัดดงบุญนาค ได้กล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่เล่ากันมา ว่า ขณะที่ทำการชักลากแพที่ประดิษฐานองค์พระเพื่ออันเชิญจากวัดพระธาตุ       ก๋อมก้อมาประดิษฐานที่วัดดงบุญนาค โซ่ที่ใช้ชักลากเกิดขาด ขณะที่กำลังหาโซ่มาเปลี่ยน กลุ่มผู้เม่าผู้แก่ได้ประกอบพิธีขอขมา และกล่าวคำอัญเชิญองค์พระอยู่พักใหญ่ โดยให้เด็กหนุ่มสาวที่แต่งกายไม่เรียบร้อยกลับก่อน แล้วจึงตัดต้นกว๋าวเครือ ในบริเวณนั้นมาต่อกับโซ่ที่ขาด ปรากฏว่าสามารถชิกลากแพข้ามดอยมาถึงวัดโดยไม่ขาดเป็นที่น่าอัศจรรย์

          จากการสำรวจรอบๆบริเวณวัดพระธาตุก๋อมก้อ ยังพบฐานเสาหินทราย เศษภาชนะดินเผาและเศษกระเบื้องดินของกระจัดกระจายอยู่โดยรอบ จากข้อมูลต่างๆ ที่ได้กล่าวมาจึงสันนิฐานเบื้องต้นว่าโบราณสถานวัดพระธาตุก๋อมก้อ สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 22

ลักษณะและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม

        แผนผังโบราณสถานหลักวางตัวในแนวทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก โดยมีห้วยหลวงลำน้ำขนาดเล็กไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตก เนินโบราณสถานมีขนาดประมาณ 14 x 30 เมตร ประกอบด้วย วิหารผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันปรากฏร่องรอยเฉพาะแนวฐานของวิหารสูงราว 60 เซนติเมตร มีบันไดทางขึ้นกว้างประมาณ 150 เซนติเมตรที่ด้านข้างทั้งสองด้าน ส่วนบนพื้นวิหารมีการปลูกสร้างอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยใหม่ ถัดไปทางด้านหลังขอวิหารปรากฏร่องรอยของเจดีย์ก่ออิฐขนาด 2 x 3 เมตร มีสภาพถูกลักลอบขุดทำลาย แนวกำแพงแก้วล้อมรอบวิหารและเจดีย์ โดยมีขนาดประมาณ 4 x 40 เมตร นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทต่างๆ ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเวียงบัว ชิ้นส่วนกระเบื้องดินของ และฐานทรงกลมมีรูกลมมีรูตรงกลางทำจากดินทราย ซึ่งน่าจะใช้เป็นฐานเสาวิหารขนาด 70 x 70 x 25 เซนติเมตร ตั้งอยู่ หมู่ที่ 7 บ้านดงบุญนาค ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา